การเพาะเมล็ดที่นิยมปฏิบัติกันมีดังนี้
๑. การเพาะในกระบะเพาะชำ
กระบะเพาะชำจะต้องมีขนาดที่สามารถเอื้อมมือเข้าไปทำงานได้สะดวกทั้งสองด้าน
ซึ่งส่วนใหญ่จะกว้างประมาณ ๑๐๐-๑๒๐ เซนติเมตร ความยาวแล้วแต่ขนาดของพื้นที่
ความสูงประมาณ ๑๕-๓๐ เซนติเมตร ขึ้นอยู่กับชนิดพืชที่ต้องการเพาะ
ส่วนพื้นล่างของกระบะต้องรองพื้นด้วยวัสดุช่วยระบายน้ำ ได้แก่ หินบด กรวด อิฐทุบ
ขนาดเล็กประมาณ ๐.๕ เซนติเมตร
ควรปูด้วยทรายหยาบข้างบนแล้วอัดพื้นให้เรียบ
ความสูงของพื้นชั้นล่างที่ระบายน้ำประมาณ ๒-๕ เซนติเมตร
รองพื้นขึ้นสุดท้ายด้วยใยมะพร้าวหรือเศษหญ้าแห้ง
บริเวณด้านข้างกระบะส่วนล่างที่ติดกับพื้นควรเจาะรูระบายน้ำโดยรอบ
เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำขัง เพราะจะทำให้เมล็ดเน่าเสียหายได้
เมื่อเตรียมกระบะเสร็จเรียบร้อยแล้วจึงเตรียมวัสดุ เพาะชำ ดังนี้
การเตรียมวัสดุเพาะชำ
วัสดุเพาะชำสำหรับการเพาะเมล็ดต้องสามารถเก็บความชื้นและระบายน้ำได้ดีพอสมควรอีกทั้งไม่จับกันแน่นเกินไป
ซึ่งจะสร้างความยุ่งยากในการถอนย้ายต้นกล้า ได้แก่
๑. ขี้เถ้าแกลบเก่าที่ทิ้งไว้ค้างปี
ถ้าเป็นขี้เถ้าแกลบใหม่ต้องผ่านการล้างน้ำมาหลายครั้ง
เพื่อลดความเป็นด่านของขี้เถ้าแกลบ
๒. ขุยมะพร้าว เป็นขุยที่ได้จากการตีเปลือกมะพร้าวแห้งเพื่อนำเอาเส้นใยไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นแล้วเหลือแต่ขุยซึ่งมีใยปะปนอยู่ค่อนข้างน้อย
เป็นวัสดุเพาะชำที่เก็บความชื้นได้ดีมาก
๓. วัสดุเพาะชำผสมขุยมะพร้าว ทราย ปุ๋ยคอก และดิน
ในกรณีที่เพาะเลี้ยงไว้ในเวลาหลาย ๆ วัน การใช้ขุยมะพร้าวเพียงอย่างเดียวอาจจะไม่เหมาะกับเมล็ดพืชบางชนิดที่ไม่ต้องการความชื้นแฉะมาก
ดังนั้นต้องนำทรายเข้ามาช่วยผสมเพื่อไม่ให้เกิดความชื้นมากเกินไป
๔. ดินร่วน
ในกรณีที่ไม่สามารถหาวัสดุที่กล่าวข้างต้นได้ก็สามารถใช้ดินร่วนเป็นวัสดุเพาะชำได้ดีเช่นกัน
ฉะนั้น การเลือกใช้วัสดุเพาะชำแบบไหนนั้นขึ้นอยู่กับชนิดพืชและความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่สภาพอากาศและ
บริเวณที่ตั้งของกระบะเพาะชำ
วิธีการเพาะ
๑.
นำเมล็ดที่ผ่านการคัดเลือกและเตรียมไว้เรียบร้อยแล้วมาเพาะในกระบะโดยเว้นระยะห่างระหว่างต้นและระหว่าง
แถว ๑๐x๑๐ หรือ ๑๐x๑๕ เซนติเมตร (เฉพาะไม้ผลที่มีใบใหญ่ เช่น มะม่วง ขนุน)
การวางเมล็ดควรวางส่วนขั้วของเมล็ดลงในวัสดุเพาะชำ
เพื่อให้รากพืชที่เกิดใหม่หาอาหารได้ง่ายและยังทำให้ระบบรากพืชตั้งตรงแข็งแรงอีกด้วย
จากนั้นกลบดินหรือวัสดุเพาะชำให้มิดเมล็ด
แต่พืชบางชนิดไม่จำเป็นต้องกลบดินจนมิดเมล็ด เช่น มะม่วง มะพร้าว
ในกรณีที่ต้องกลบวัสดุเพาะชำให้มิดเมล็ดก็ไม่ควรเกิน ๒-๓
เท่าของเส้นผ่าศูนย์กลางของเมล็ดพืชนั้น ๆ
๒. ทำวัสดุพรางแสงในช่วงแรก
กรณีที่มีแสงเข้มมากอาจจะทำให้เมล็ดงอกได้ไม่ดีเท่าที่ควร
หลังจากเมล็ดเริ่มงอกหมดแล้วจึงนำวัสดุพรางแสงออกทีละน้อยจนกว่าจะมีใบจริง
จนกระทั่งใบจริงชุดแรกแก่แล้วจึงนำวัสดุพรางแสงออกให้หมด
๓. การให้น้ำ หลังจากทำการเพาะเมล็ด ต้องรดน้ำให้ชุ่ม
การให้น้ำช่วงแรกอาจจะต้องใช้บัวรดน้ำ
หรือถ้าใช้ระบบให้น้ำผ่านทางท่อสายยางก็จำเป็นต้องหาฝักบัวเสียบต่อตอนปลายท่อสายยาง
เพื่อชะลอความแรงของน้ำที่จะกระแทกวัสดุ เพาะชำที่กลบเมล็ดไว้
รวมทั้งในกรณีที่ต้นอ่อนเริ่มงอกแล้ว
การให้น้ำแบบใช้ท่อสายยางที่ไม่ได้สวมหัวบัวที่ส่วนปลายก็อาจจะทำให้ต้ชพืชที่งอกขึ้นมาใหม่บอบช้ำ
และหักล้มเสียหาย ช่วงเวลาที่ให้น้ำควรเป็นเวลาช่วงเช้าตรู่และเย็น ควรให้ทุกวัน
แต่ก็พิจารณาความเหมาะสมของสภาพอากาศด้วย ถ้ามีฝนตกลงมาควรงดการให้น้ำ
๔. การปฏิบัติดูแลรักษา ควรฉีดพ่นสารเคมีเพื่อป้องกันและกำจัดโรค แมลง
เมื่อพบการถูกทำลาย และกำจัดวัชพืชโดยใช้มือถือถอนออกจะดีที่สุด
ไม่ควรใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชฉีดพ่นในแปลงกล้า เพราะอาจทำให้ต้นกล้าตายได้
๒. การเพาะในแปลงเพาะ
วิธีการนี้เป็นวิธีที่ง่าย ลงทุนน้อย
เพียงเตรียมแปลงบนดินโดยวิธีการขุดดินตั้งแปลงเพาะให้ความกว้างของแปลงประมาณ ๑-๑.๕
เมตร ความยาวแล้วแต่ความเหมาะสม
วิธีการเตรียมแปลง
๑. ควรเลือกแปลงที่อยู่ใกล้บริเวณแหล่งน้ำ เป็นที่ที่น้ำไม่ท่วมขังเมื่อมีฝนตกหนัก
ห่างไกลจากจอมปลวก
ขุดดินตั้งแปลงให้ส่วนด้านยาวของแปลงอยู่ในแนวทิศเหนือใต้หรือขวางแนวแสงจากดวงอาทิตย์
ดินที่ทำการขุดจะต้องย่อยเมล็ดดินให้แตกละเอียดพอสมควร ตากดินไว้ประมาณ ๑๐-๑๕ วัน
ในกรณีที่ดินนั้นมีความอุดมสมบูรณ์ค่อนข้างต่ำ
อาจจะต้องใส่ปุ๋ยคอกเพิ่มคลุกเคล้าเข้ากับดินด้วย
และถ้าพบว่าดินบริเวณนั้นเป็นกรดจะต้องใส่ปูนขาวผสมไปในดินที่เตรียม ไว้เช่นกัน
เพื่อลดความเป็นกรดของดิน
๒. ทำวัสดุพรางแสงเพื่อลดอุณหภูมิและความเข้มของแสง
ซึ่งอาจจะมีผลต่อการงอกของเมล็ดได้ เพราะถ้าอุณหภูมิสูงเกินไปอาจจะทำให้เมล็ดไม่งอกได้เช่นกัน
เมื่อต้นกล้างอกหมดแล้ว จึงนำวัสดุพรางแสงออกทีละน้อยจนหมด
เพราะถ้านำวัสดุพรางแสงออกหมดเลยทีเดียวก็อาจทำให้ใบต้นกล้าไหม้แห้งตายได้
๓.
การให้น้ำและการปฏิบัติดูแลรักษาก็ทำเช่นเดียวกับวิธีเพาะเมล็ดในกระบะเพาะ
๓. การเพาะในภาชนะ
ภาชนะที่ใช้เพาะได้แก่ กระถางดินเผา ถาดเพาะชำสำเร็จรูป
หรือถุงพลาสติกสีขาวหรือสีดำก็ได้
แต่ถุงสีดำจะช่วยให้ระบบรากพืชเจริญได้ดีกว่าสีขาว
ขนาดของภาชนะขึ้นอยู่กับชนิดต้นพืชที่ทำการเพาะ
รวมทั้งเวลาในการเพาะเลี้ยงว่ายาวนานเท่าไร ถ้าเพาะเลี้ยงนานควรใช้ภาชนะใหญ่
และภาชนะที่นำมาใช้ต้องเป็นภาชนะที่มีรูระบายน้ำที่บริเวณส่วนก้นภาชนะ
วิธีการเพาะ
๑. เพาะเมล็ดลงในภาชนะโดยตรง
วิธีการนี้หากหยอดเมล็ดพืชเพียงเมล็ดเดียวลงในภาชนะ
ถ้าต้นกล้าไม่งอกจะทำให้สูญเสียเนื้อที่ในการวางภาชนะและสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติดูแลรักษา
ดังนั้น ในกรณีที่เมล็ดพืชมีขนาดเล็กอาจจะเพิ่มจำนวนเมล็ดขึ้นอีกเป็น ๒-๓ เมล็ด
และถ้าต้นพืชงอกขึ้นใหม่ในกระถาง ๒-๓ ต้น
ก็ให้ถอนต้นที่อ่อนแอหรือมีขนาดเล็กกว่าออกเหลือต้นที่โตสมบูรณ์เพียงต้นเดียว
๒. วิธีย้ายชำต้นกล้าอ่อน วิธีการนี้เป็นวิธีการเตรียมภาชนะเพาะชำที่บรรจุด้วยวัสดุเพาะชำไว้เรียบร้อยแล้ว
ขณะเดียวกันการเพาะเมล็ดพืชที่ต้องการจะเพาะในถาดเพาะชำซึ่งบรรจุด้วยวัสดุเพาะชำที่สามารถทำการแยกต้นอ่อนออกมาได้ง่าย
และเมื่อเมล็ดงอกแล้วก่อนที่ใบเลี้ยงจะคลี่ออกก็ทำการยกถาดเพาะชำไปแช่น้ำเพื่อให้วัสดุเพาะชำอ่อนตัวแล้วคัดเลือกกล้าอ่อนมาเพาะในภาชนะที่เตรียมไว้อีกทีหนึ่ง
วิธีการนี้จะช่วยให้ได้ต้นกล้าขึ้นเต็มที่ทุกภาชนะ และได้ต้นพืชใหม่ที่มีขนาดเท่า
ๆ กันอีกด้วย
อีกทั้งเป็นการช่วยลดจำนวนภาชนะชำเมล็ดพันธุ์และลดต้นทุนในการปฏิบัติดูแลรักษาอีกด้วย